ปฏิกิริยา ของ คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505

ฝ่ายไทย

ตัวอย่างเพลง:
Sarit Dhanarajata's statement on July 4, 1962
"แถลงการณ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อประชาชนชาวไทย เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2505"
  • หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:วิธีใช้สื่อ
  • วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ทหารและตำรวจตระเวณชายแดนฝ่ายไทยได้เชิญเสาธงชาติไทยจากยอดผาเป้ยตาดีมาทั้งเสา โดยไม่มีการเชิญธงชาติลงจากยอดเสา แล้วนำมาตั้งไว้ที่ผามออีแดง

    วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย

    โดยมีคำประท้วงดังนี้[6]

    ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

    ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

    ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

    ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย

    ปฏิกิริยาอื่นๆจากฝ่ายไทย

    เวลา 12:00 นาฬิกา วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พลโทประภาส จารุเสถียร ได้คุมทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเชิญธงชาติไทยจากหน้าผาเป้ยตาดีลงมาทั้งเสาโดยไม่ชักธงลง และนำไปติดตั้งไว้บริเวณฐานปฏิบัติการ ตชด. ที่ผามออีแดง และทางกัมพูชาก็ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาประจำการบนปราสาท

    ฝ่ายกัมพูชา

    พระนโรดม สีหนุขณะเสด็จปราสาทพระวิหาร

    หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ได้มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งพระราชอาณาจักรกัมพูชา มีการประกาศวันหยุดราชการ และในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จเจ้าสีหนุได้เสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารเพื่อทำพิธีบวงสรวง ทางสะพานโบราณ (ช่องบันไดหัก) หลังจากที่ทรงทราบว่ากัมพูชาชนะคดีปราสาทพระวิหาร[7]

    แหล่งที่มา

    WikiPedia: คดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 http://www.charnvitkasetsiri.com/PDF/PreahVihearFo... http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16480.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/45/4871.pdf http://www.icj-cij.org/docket/index.php?p1=3&p2=3&... http://www.icj-cij.org/docket/index.php?sum=284&co... http://www.lek-prapai.org/web%20lek-prapai/seminar... http://www.mfa.go.th/190/file2.php http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/... http://www.navy.mi.th/intel/news/in_news/IN8_19020... https://www.youtube.com/watch?v=4KIZfY2AI6Y